ในคนปกติทั่วๆไปต่อวัน ผมก็จะร่วงไม่เกิน 100 เส้น คือภายใน 24 ชั่วโมง ถ้าร่วงมากกว่า 100 เส้น ถือว่าเป็นอาการผิดปกติ สาเหตุที่จะทำให้ผมร่วงก็มีมากมาย ตัวอย่างเช่น การร่วง แบบพันธุกรรมที่เราทราบกันดีว่า หัวล้านหรือการร่วงหลังคลอด การร่วงจากการมีไข้สูง ไม่สบาย ผมร่วง อีกสาเหตุหนึ่งที่ยังไม่แน่ใจว่าจะเกิดจากอะไรก็คือ ผมร่วงเป็นหย่อมๆ ซึ่งพวกนี้ก็อาจจะหายเองได้ การรักษานี้เราก็คงจะต้องไปตรวจหาสาเหตุก่อนว่า ผมร่วงนี้จากสาเหตุอะไรแล้วก็รักษาไปตามสาเหตุ และก็โรคที่เราเป็นอยู่แล้วก็จะค่อยๆ ดีขึ้น คนส่วนใหญ่มีความเชื่อกันว่า ศีรษะล้าน เกิดจากความเครียด เชื้อราบนหนังศีรษะ รังแค ต่อมไขมันทำงานมากเกินไป ฯลฯ บางคนจึงซื้อยามาทาหรือแชมพูรักษา ผมร่วง มาลองใช้ดู แต่ก็ไม่อาจทำให้ผมหยุดร่วงได้ เพราะไม่ใช่ต้นเหตุที่แท้จริง
ซึ่งสาเหตุหลักๆ ของ ผมร่วง ผมบาง หรือ ศีรษะล้าน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
1. กรรมพันธุ์ เป็นสาเหตุเกือบทั้งหมดของ ศีรษะล้าน พบได้มากกว่า 95 % และทำให้เกิด ศีรษะล้าน แบบถาวร อย่างที่พบเห็นกันอยู่ทั่วไป ตำรา ศีรษะล้าน ไทยได้กล่าวถึง ศีรษะล้าน ชนิดนี้ว่ามีอยู่ด้วยกันถึง 7 แบบคือ ทุ่งหมาหลง ดงช้างข้าม ง่ามเทโพ ชะโดตีแปลง แร้งกระพือปีก ฉีกหางฟาดและราชคลึงเคราเชื่อว่าหลายคนคงเคยทราบมาบ้างแล้ว ศีรษะล้านจากกรรมพันธุ์มีรูปแบบและลักษณะเฉพาะของ ศีรษะล้าน ที่เป็นเอกลักษณ์ ชนิดที่ใครเห็นเข้าก็พอจะบอกได้ กล่าวคือ
1.1 ในผู้ชาย มักเริ่มจากมีการถอยร่นของแนวผมทางด้านหน้าลึกเข้าไปเป็นง่าม และเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามอายุ บางคนอาจมี ศีรษะล้าน ด้านหลังตรงบริเวณขวัญร่วมด้วย สุดท้ายแล้วถ้าผมยังไม่หยุดร่วง ศีรษะล้าน ทั้ง 2 บริเวณจะลามเข้าหากันจนกลายเป็น ศีรษะล้าน บริเวณกว้าง ซึ่งจะเป็นมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับกรรมพันธุ์ของคนๆนั้น แบ่งความรุนแรงออกเป็น 7 ระดับ
1.2 ในผู้หญิง มีรูปแบบแตกต่างจากผู้ชาย คือจะมี ผมบาง หรือ ศีรษะล้าน เฉพาะตรงบริเวณกลางศีรษะเท่านั้น ส่วนแนวผมด้านหน้ายังคงดีอยู่ไม่ถอยร่นเข้าไปเหมือนในผู้ชาย แต่บางคนอาจมีศีรษะเถิกแบบผู้ชายก็ได้ แบ่งความรุนแรงออกเป็น 3 ระดับ
คนที่เป็น ศีรษะล้าน จากกรรมพันธุ์ มักพบว่ามีประวัติคนในครอบครัวหรือญาติ ศีรษะล้าน ร่วมด้วย แต่ก็ไม่จำเป็นต้องมีเสมอไป บางคนบิดามารดาศีรษะไม่ล้าน ส่วนลูกหลานกลับมี ศีรษะล้าน ก็ได้ขึ้นกับปัจจัยที่ควบคุมให้ยีน ศีรษะล้าน แสดงหรือไม่แสดงออก ศีรษะล้าน จากกรรมพันธุ์จะทำให้เกิดการสูญเสียเส้นผมอย่างถาวร อย่างไรก็ดีแม้ว่ายีน ศีรษะล้าน จะกำหนดให้เซลล์สร้างเส้นผมบริเวณด้านหน้า และด้านบนให้เสื่อมสภาพและตายไป แต่กลับกำหนดให้เซลล์สร้างเส้นผมตรงบริเวณท้ายทอยและขมับทั้ง 2 ข้างอยู่คู่กับเราไปตลอดชีวิตทำให้เราสามารถย้ายเซลล์ตรงบริเวณนี้ไปปลูกทดแทนผมที่ร่วงไปได้
2 . สาเหตุอื่นๆ พบได้น้อยกว่า 5 % มีด้วยกันหลายโรค โรคที่พบได้บ่อยคือ ผมร่วงชนิดเป็นหย่อม หรือมีชื่อเรียกทางการแพทย์ว่า Alopecia Areataโรคของต่อมไทรอยด์เช่น ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ (Toxic goiter) ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย (Hypothyroidism) ภาวะหลังคลอดบุตร หลังฟื้นไข้และผ่าตัดใหญ่ การอดอาหารมาก ๆ เพื่อลดน้ำหนัก ความเครียด โรคผิวหนังบางชนิด โรคจิตที่ชอบถอนผมตัวเอง มะเร็งรังไข่ที่ผลิตฮอร์โมนเพศชาย หรืออาจเกิดจากยาบางชนิด เช่น ยาเคมีบำบัดเพื่อรักษามะเร็ง เป็นต้น ศีรษะล้าน ที่ไม่ได้เกิดจากกรรมพันธุ์นี้มักเป็นภาวะชั่วคราว และไม่มีรูปแบบศีรษะล้านที่แน่นอนเช่น ศีรษะล้าน จากกรรมพันธุ์ ส่วนใหญ่แล้วผมจะร่วงทั่วๆ ทั้งศีรษะ และเมื่อภาวะต่างๆ หมดไปผมก็ขึ้นใหม่เป็นปกติ ยกเว้นในรายที่สูญเสียเส้นผมจากการผ่าตัดหนังศีรษะ ผ่าตัดสมอง อุบัติเหตุ หรือแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก เหล่านี้อาจสูญเสียเส้นผมอย่างถาวรได้
ท่านที่มีปัญหา ผมร่วง ศีรษะล้าน จึงควรไปพบแพทย์ให้วินิจฉัยหาสาเหตุแต่เนิ่นๆ เพื่อการรักษาที่ถูกต้อง ดีกว่าการลองผิดลองถูก เพราะการรักษาปัญหา ผมร่วง ศีรษะล้าน ในระยะเริ่มแรก จะได้ผลดีกว่าเมื่อเป็นมากแล้ว ยิ่งเริ่มรักษาเร็วเท่าใด เส้นผมที่คุณรักและหวงแหนก็มีโอกาสที่จะอยู่กับคุณนานขึ้นเท่านั้น
|